การสำรวจที่ดินและกฏหมายที่เกี่ยวข้อง
การสำรวจที่ดิน
แม้ว่าเจ้าของบ้านส่วนใหญ่จะทราบขนาดของพื้นที่ตนเองว่ามีขนาดกี่ตารางวา กว้าง ยาวเท่าไร เจ้าของบ้านก็ควรที่จะนัดทีมงานให้เข้ามาทำการวัดที่ดินจากพื้นที่จริงอีกครั้ง ซึ่งสถาปนิกจะเข้ามาวัดด้วยวิธีการหาหลักหมุดตามจุดต่างๆ ของพื้นที่เพื่อนำไปประกอบข้อมูลการสร้างบ้านและการเว้นช่วงระยะห่างของตัวบ้านตามกฏหมาย การวัดที่ดินจากโฉนดอาจมีการคลาดเคลื่อนเมื่อได้ดำเนินการก่อสร้างไปแล้วและอาจจะทำให้เกิดปัญหาในภายหลังได้ หากท่านไม่สามารถหาหลักหมุดของพื้นที่พบ เจ้าของบ้านจะต้องจ้างเจ้าหน้าที่ที่ดินมาทำการรังวัดพื้นที่เพราะบางครั้งหลักหมุดอาจจะไปอยู่ในพื้นที่ข้างเคียง
การพิจารณาวางผังบ้านบนพื้นที่จริงก็เป็นเรื่องสำคัญ เช่น เรื่องของทิศ ลม และแดด โดยจะดูลักษณะของบ้านและพื้นที่จริงเป็นหลัก หากวางแผนไม่ดีจะทำให้ตัวบ้านมีความร้อนสะสมภายในบ้าน และจะทำให้ผู้อยู่อาศัยไม่มีความสุขในการอยู่บ้านนั้น ปรกติในเรื่องของแดด ก็จะเป็นในลักษณะพระอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกและจะอ้อมมาทางทิศใต้และไปสู่ทิศตะวันตก ส่วนลมจะมาจากทางทิศใต้และทิศตะวันตกเฉียงใต้ในหน้าร้อน และจะมาจากทิศเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือในหน้าหนาว อย่างไรก็ตามต้องพิจารณาจากพื้นที่ข้างเคียงด้วยว่า มีอาคารสูงบดบังพื้นที่อยู่หรือไม่ ซึ่งหากมีอาจจะต้องปรับเปลี่ยนให้มีความเหมาะสม
บริษัทไอเดียแปลน สตูดิโอ จำกัด มีบริการในการวัดพื้นที่ก่อนการก่อสร้างพร้อมให้คำแนะนำเกี่ยวกับพื้นที่ก่อสร้าง การจัดบ้านให้ลงอยู่ในพื้นที่ โดยสถาปนิกของบริษัทจะเข้าไปดำเนินการวัดพื้นที่จริงให้กับท่านก่อนการดำเนินการสร้าง และแนะนำเจ้าหน้าที่รังวัดหากท่านต้องการใช้บริการในกรณีที่ไม่สามารถหาหลักหมุดได้พบหรือในกรณีต้องการแบ่งพื้นที่ในที่ดินของท่าน
กฏหมายที่เกี่ยวข้องกับการสร้างบ้านพักอาศัย (ที่มา: ข้อมูลจากธนาคารอาคารสงเคราะห์)
- บ้านสูงไม่เกิน ๘ เมตร และสร้างบนที่ดินติดถนนกว้างไม่ถึง ๖ เมตร จะต้องถอยตัวอาคารบ้านพัก ห่างจากกึ่งกลางถนน ไม่น้อยกว่า ๓ เมตร
- บ้านสูงเกินกว่า ๘ เมตร และสร้างบนที่ดินติดถนนกว้างไม่ถึง ๑๐ เมตรจะต้องถอยตัวบ้านพักห่างจากกึ่งกลางถนน ไม่น้อยกว่า ๖ เมตร
- บ้านสูงเกินกว่า ๘ เมตร และสร้างบนที่ดินติดถนนกว้างขนาด ๑๐-๒๐ เมตร จะต้องสร้างอาคารถอยห่างจากที่ดิน จากเขตที่ดินเป็นระยะ ๑ ใน ๑๐ เท่าของความกว้างถนน
- บ้านที่สูงเกินกว่า ๘ เมตร และสร้างบนที่ดินติดถนนกว้าง ๒๐ เมตรขึ้นไป จะต้องสร้างอาคารถอยห่างจากเขตที่ดิน เป็นระยะอย่างน้อย ๒ เมตร
- การสร้างบ้านใกล้แม่น้ำ คู คลอง ลำราง ที่แคบกว่า ๑๐ เมตร จะต้องถอยตัวบ้านห่างจากขอบที่ดินอย่างน้อย ๓ เมตร
- ถ้าแหล่งน้ำนั้นกว้างกว่า ๑๐ เมตร จะต้องถอยตัวบ้านห่างจาขอบที่ดินอย่างน้อย ๖ เมตร
- ถ้าเป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่ เช่น บึง ทะเลสาบ หรือทะเล จะต้องถอยให้ตัวบ้านห่างจากขอบที่ดินอย่างน้อย ๑๒ เมตร
- หากเป็นสิ่งก่อสร้างอื่นๆ เช่น สะพาน ท่าเรือ อู่เรือ เขื่อน รั้วที่จำเป็นต้องสร้างชิดแหล่งน้ำ ให้ยื่นขออนุญาตต่อทางราชการต่างหาก จากบ้านพักอาศัย
- ห้ามสร้างบ้านให้มีส่วนหน่งส่วนใด ยื่นรุกล้ำเข้าไปในเขตที่ดินผู้อื่น
- หากผนังข้างบ้านเป็นช่องเปิดต่างๆ เช่น ประตู หน้าต่าง แนวระเบียง จะต้องถอยร่นจากขอบที่ดินเป็นระยะ ๒ เมตร (สำหรับชั้นหนึ่งและชั้นสอง) และถอยเป็นระยะ ๓ เมตรสำหรับชั้นสาม
- หากผนังข้างบ้านเป็นผนังทึบ และมีความสูงไม่เกิน ๑๕ เมตร ให้เว้นระยะไว้อย่างน้อย ๕๐ เซ็นติเมตร หรือถ้าต้องการสร้างผนังให้ไปจนชิดแนวขอบจริงๆ ต้องให้เพื่อนบ้านเซ็นต์ยินยอมเสียก่อน เนื่องจากเวลาก่อสร้างนั้น ช่างอาจต้องวางนั่งร้าน เพื่อทาสีฉาบปูนในเขตที่ดินของเพื่อนบ้าน (หากพื้นที่ใช้สอยรวมแล้วกว้างกว่า ๓๐๐ ตารางเมตร จะต้องเว้นระยะห่างอย่างน้อย ๑ เมตร โดยทุกกรณี)
- กรณีที่บ้านสูงเกิน ๑๕ เมตร จะต้องให้ผนังทึบ ถอยห่างจากขอบที่ดินอย่างน้อย ๕๐ เซ็นติเมตร (หากพื้นที่ใช้สอยรวมแล้วกว้างกว่า ๓๐๐ ตารางเมตร ห้ามสร้างชิดเด็ดขาด)
- การปลูกสร้างบ้านพักอาศัยบนที่ดินนั้น ตามกฏหมายกำหนดให้เปิดเป็นที่ว่างไว้ไม่น้อยกว่า ๓๐ เปอร์เซ็นต์ โดย ๗๐ เปอร์เซ็นต์ เพื่อการก่อสร้างบ้านพักอาศัย (ที่ว่างหมายถึง พื้นที่อันปราศจากสิ่งปกคลุม ซึ่งอาจจัดเป็นบ่อน้ำ สระว่ายน้ำ บ่อพักน้ำเสีย ที่พักขยะมูลฝอย เป็นต้น)